top of page

Cretive Thinking



ในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์สามารถนำเทคนิควิธีที่มีอยู่หลากหลายมาประยุกต์ใช้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษาได้ ซึ่งเทคนิคที่นำมาใช้ในการวิจัยครั้งนี้ มีดังนี้

               1.  เทคนิคระดมสมอง (Brainstorming) มีหลักการอย่างกว้าง ๆ ว่า ต้องการจะได้วิธีการแก้ปัญหาหลาย ๆ วิธีโดยไม่มีการประเมินหรือตัดสินว่า วิธีการอย่างใดเหมาะหรือไม่

               2.  เทคนิคซินเน็คติคส์ (Synectics Technique) เทคนิคนี้อาจเรียกว่าเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ หรืออุปมาอุปไมย (Analogy) แต่มีลักษณะพิเศษตรงที่จะต้องเพิ่มกลไกทางจิตวิทยาในการวิเคราะห์ปัญหาเข้าไปก่อน ซึ่งกลไกในทางจิตวิทยาที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัญหามีอยู่ 2 ขั้นตอน คือ การทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย กับการทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก

               3.  เทคนิคการคิดแนวข้าง (Lateral Thinking) เป็นหลักการคิดของ De Bono โดยเน้นการสอนหลักการคิดแนวข้างเพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา

               4.  เทคนิคแผนที่ความคิด (Mind Mapping) โดยมีหลักการว่า ข้อมูลที่สลับซับซ้อนสามารถนำมาจัดเป็นระบบให้ง่ายขึ้นได้ด้วยการสร้างเป็นรูปภาพ วิเคราะห์ให้เห็นว่าองค์ประกอบใดเป็นองค์ประกอบหลัก องค์ประกอบใดเป็นองค์ประกอบย่อย

               จากการศึกษาพัฒนาการของความคิดสร้างสรรค์ โดย จากการศึกษาของมานส์ ยืนยันว่าความคิดสร้างสรรค์แสดงออกมาอย่างอิสระในระหว่างเด็กที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 5 ความคิดจินตนาการสร้างสรรค์ของเด็กจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 11 ปี (Mans, 1941) สอดคล้องกับการศึกษาของ Union College Character Research Project ซึ่งสรุปโดย

ลิกอน (Ligon, 1957) พบว่า เด็กอายุ 10-12 ปี จะเพิ่มความสามารถในการใช้ทักษะเพื่อสร้างสรรค์ผลงานและสามารถค้นพบวิธีการต่าง ๆ ที่จะสร้างผลงานสร้างสรรค์ มีความสนใจในการอ่านและการคิดมากขึ้น สอดคล้องกับผลการวิจัยของ (อารี  รังสินันท์และคณะ อ้างถึงใน วิเชียร  กลิ่นมาลัย, 2543) ที่ศึกษาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1-3  พบว่า  พัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ใน 3 ลักษณะ คือ ความคิดคล่องตัว  ความคิดริเริ่มและความคิดตกแต่งจะพัฒนาขึ้นจากระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ลดต่ำสุดในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2  และจะเริ่มพัฒนาสูงขึ้นอีกในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ดังนั้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จึงควรพัฒนาในเด็กวัยประถมศึกษา

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

bottom of page